วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การไหว้ครู

การไหว้ครู
การไหว้ครู มีท่ารำอยู่หลายท่า ตามแต่ครูฝึกสอนจะนิยมนำมาให้ศิษย์ใช้ เช่น รำเทพพนม พรหมสี่หน้า นารายณ์น้าวศร ฯลฯ
การรำดังกล่าวนี้ เมื่อได้กราบ ๓ รา ด้วยท่ามวยแล้ว จึงรำด้วยท่าใดท่าหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ในที่นี้จะได้นำมากล่าว เฉพาะ พรหมสี่หน้า ซึ่งนิยมกันมาก

พรหมสี่หน้า
เริ่มด้วยการนั่งคุกเข่า ๒ ข้างลงกับพื้น ทำมุมกาง ๙๐ องศา นั่งทับส้นเท้า
จังหวะ ๑
ยกมือพนมระหว่างคิ้ว แล้วเลื่อนลดลงมาหยุดเสมออก
จังหวะ ๒
แยกมือที่พนมออกจากกัน เหยียดตรงไปข้าง ๆ ตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้า วกมือทั้ง ๒ ไปบรรจบกันข้างหน้า คว่ำแตะพื้น ศีรษะก้มลงในท่ากราบ แล้วผงกศีรษะทรงตัวตรงตามเดิม
จังหวะ ๑ - ๒ นี้เป็นท่ากราบ เมื่อทรงตัวตรง มือทั้ง ๒ กลับขึ้นพนมเหนือคิ้ว และลดพักเพียงอกอีก ทำท่ากราบนี้ให้ครบ ๓ ครั้ง เมื่อกราบครั้งที่ ๓ แล้ว
จังหวะ ๓
เหยียดเท้าขวาออก เป็นท่าชันเข่ายืน แขนขวาออกแรงแตะเข่าขวา
จังหวะนี้เป็นท่าเตรียมยืน แต่เพื่อความสง่างามจึงมีจังหวะเคลื่อนไหวให้แนบเนียนขึ้น เมื่อใช้มือขวาแตะเข่าขวา ยืนตรงขึ้น พร้อมด้วยหมัดซ้ายยกขึ้นระดับเสมออก ประชิดเท้าซ้ายขึ้นเสมอเท้าขวา เป็นท่ายืนหันหน้าไปทางคู่ต่อสู้
จังหวะ ๔
ยกเท้าขวางอเข่าขึ้นข้างหน้าเป็นมุม ๙๐ องศา ๒ หมัดยกควงเสมอหน้ารอบหนึ่ง แล้วเหยียดหมัดยกขึ้นควงเสมอขวา ไปแตะขาขวา (ที่ยกอยู่)
ลดเท้าขวาลงพื้น หมัดทั้งสองอยู่ในท่าคุม (การ์ด) สืบเท้าขวาและซ้ายตามไปสามจังหวะ จังหวะสั้น ๆ แล้วหยุด
หยุดการสืบเท้าแล้ว เบี่ยงซ้ายชันเข่าซ้าย เป็นมุม ๙๐ องศา หมัดทั้ง ๒ ยกควงเสมอหน้า แล้วเหยียดแขนซ้าย แตะหมัดไปที่ขาซ้าย (ที่ยกอยู่) ลดเท้าซ้ายยันพื้นสืบเท้า ๓ จังหวะ สู่จุดเดิม ทำดังนี้จากด้านหน้า (ดังได้อธิบายแล้ว) กลับหลังแล้วยกเท้าขวาขึ้น เริ่มต้น จังหวะ ๔ อีกครั้ง เบี่ยงตัวไปทางขวา ปฏิบัติทุกอย่างเช่นเดียวกัน หากเป็นเพียง สืบเท้าไปทางด้านขวา จากด้านขวาแล้วเปลี่ยน เป็นซ้ายและหลังเป็นที่สุด ซึ่งสรุปการรำนี้ เป็นการก้าวฉาก แล้วเฉียง ไปทั้งสี่ทิศ จึงให้ชื่อว่าพรหมสี่หน้า
การร่ายรำจะจบลงในชุดเดิม ต่อจากนี้จึงเป็นจังหวะของการเดินเข้าไปหาคู่ต่อสู้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น